วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แถลงการณ์สนับสนุนนโยบายพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติ

แถลงการณ์
สนับสนุนนโยบายจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่
เรียกร้องรัฐต้องดูแลสิทธิแรงงาน สิทธิสุขภาพแรงงานข้ามชาติและครอบครัวในฐานะมนุษย์อย่างจริงจัง
ปัจจุบันมีการประมาณการณ์จำนวนแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยอย่างน้อยสองล้านคนที่อยู่ในกระบวนการจ้างแรงงาน และมีแรงงานมากว่าหนึ่งล้านที่ทำงานแบบไม่ถูกกฎหมาย เนื่องจากเงื่อนไขของนโยบายที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเข้าสู่การทำงานอย่างถูกกฎหมาย ดังนั้นองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรแรงงาน และตัวแทนแรงงานข้ามชาติตามที่มีรายชื่อข้างท้าย จึงมีมติเห็นชอบร่วมกันดังนี้
๑. สนับสนุนการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ เพราะจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และจะทำให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆได้มากขึ้น เช่น สิทธิด้านสุขภาพ เป็นต้น แต่ที่ผ่านมาการเปิดจดทะเบียนแรงงานไม่จูงใจให้แรงงานและนายจ้างเข้ามาจดทะเบียน เนื่องจาก ระยะเวลาที่เปิดจดทะเบียนไม่เหมาะสม ประเภทกิจการที่เปิดให้จ้างแรงงานข้ามชาติได้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงกับงานที่แรงงานข้ามชาติทำอยู่ แรงงานไม่รับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียน และยังไม่ครอบคลุมผู้ติดตามแรงงาน รวมทั้งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก เปิดช่องให้ขบวนการนายหน้าเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จึงต้องมีการปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนใหม่ โดยรัฐต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้กว้างขวางในภาษาของแรงงาน ผ่านสื่อสาธารณะ เช่น ทีวี ต้องเปิดจดทะเบียนอย่างน้อย ๖ เดือน เปิดให้แรงงานที่ไม่มีนายจ้างสามารถจดทะเบียนได้ และให้เวลาไปหานายจ้างภายใน ๓ เดือน การจดทะเบียนต้องครอบคลุมผู้ติดตามและสมาชิกในครอบครัว และเปิดให้แรงงานที่อยู่ในประเทศไทยเข้าสู่การจดทะเบียนก่อนจะมีการนำเข้าแรงงาน
๒. ต้องมีนโยบายระยะยาว ที่ชัดเจนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและคนข้ามชาติทั้งหมด โดยต้องมีความสมดุลย์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ กับสิทธิมนุษยชน และต้องมีกลไก/หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง และสอดรับการสถานการณ์การย้ายถิ่นในภูมิภาคนี้
๓. ต้องมีมาตรการเร่งด่วนที่จะทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจังในประเทศไทย ต้องปรับปรุงกลไกการรับเรื่องร้องทุกข์ การให้ข้อมูลความรู้เรื่องสิทธิและกฎหมายแก่แรงงาน ยุติการจับกุม ส่งกลับ แต่ต้องเปิดให้แรงงานและผู้ติดตามทุกคนเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนได้
๔. ต้องสนับสนุนการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติ เอ็นจีโอ และองค์กรแรงงานไทย ในกระบวนการจดทะเบียนและการกำหนดนโยบายทุกขั้นตอน
องค์กรสนับสนุน
เครือข่ายฟ้ามิตร (Prevention on HIV/AIDS Among Migrant Worker in Thailand-PHAMIT)
เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ (Action Network for Migrant-ANM)
เครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติ(Migrant Working Group-MWG)
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
มูลนิธิรักษ์ไทย
มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
องค์การ PATH ประเทศไทย
มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของกลุ่มแรงงานชาติพันธุ์ (MAP)
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ ภาคอีสาน (AIDSNet)
สมาคมส่งเสริมพัฒนาการสังคม (SDA)
สมาคมชาวพม่าในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น