วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

แถลงการณ์ เรื่อง “จุดยืนของขบวนการแรงงานต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ของรัฐบาล”


แถลงการณ์คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
เรื่อง “จุดยืนของขบวนการแรงงานต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ของรัฐบาล”

ตามที่คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ ได้ร่วมกันผลักดันกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ไม่ว่าจะเป็น
 การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2552 เพื่อนำเสนอผลักดันและติดตาม ในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2552 และ 31 สิงหาคม 2552
 การยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 เพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ
 การรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2552 และผู้แทนรัฐบาล พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ มารับข้อเรียกร้องและรับปากว่ารัฐบาลจะให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวภายใน 3 เดือน
 และในที่สุดรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมหารือกับคณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งได้มีการประชุมกัน 4 ครั้ง โดยในการประชุมล่าสุดคณะประสานงานฯ ดังกล่าว รับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

จากคำแถลงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้รณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ คณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงแรงงาน ได้รับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87

และ 98 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง ได้ประกาศรับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ต่อสาธารณะ ในการสัมมนาของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค

ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานพวกเราขอเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานให้นำมติที่ประชุมของคณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อย่างเร่งด่วน พร้อมกันนี้ขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความจริงใจต่อผู้ใช้แรงงาน ในการประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันกรรมกรสากลปี 2553 (1 พฤษภาคม 2553) โดยไม่ต้องมีความกังกวลต่อความเห็นของหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากกระทรวงแรงงานได้มีการออกแบบสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆอย่างครอบคลุมแล้ว และหน่วยงานส่วนใหญ่มีความเห็นในการสนับสนุนการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ รวมไปถึงความกังวลในเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถปรับแก้ไขให้สอดคล้องได้หลังจากการหลังจากการให้สัตยาบันไปแล้ว

เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่ง ที่คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 รณรงค์ผลักดันอย่างเข้มข้นให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เนื่องจากว่าสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบัน มีการละเมิดสิทธิแรงงาน และสิทธิสหภาพแรงงานอย่างรุนแรง ติดอันดับต้นๆของโลก ซึ่งส่งผลต่อภาพพจน์อันดีของประเทศ และอาจส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้เพื่อเร่งขั้นตอนในการดำเนินการของรัฐบาลในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ ในวันกรรมกรสากลปี 2553 คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงได้มีการหารือกันและกำหนดให้มีการรณงค์และเคลื่อนไหวร่วมกันของพี่น้องแรงงาน ต่างๆ ดังนี้
1. คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จะเข้าพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เพื่อติดตามให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2553
2. ผู้ใช้แรงงานและองค์กรแรงงานในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้มีการหารือกันแล้วบางส่วน จะเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกัน ในวันที่ 20 เมษายน 2553 โดยพื้นที่ที่ตอบรับในการร่วมรณรงค์แล้ว 5 พื้นที่ 26 จังหวัด ได้แก่
- พื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ , จังหวัดนครสวรรค์ , จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดลำปาง , จังหวัดลำพูน
- พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา , จังหวัดอุบลราชธานี , จังหวัดขอนแก่น , จังหวัดหนองคาย
- พื้นที่ภาคกลาง 9 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร , จังหวัดสระบุรี , จังหวัดอ่างทอง , จังหวัดอยุธยา , จังหวัดสมุทรสาคร , จังหวัดนครปฐม , จังหวัดสมุทรปราการ , จังหวัดนนทบุรี และ จังหวัดปทุมธานี
- พื้นที่ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระยอง , จังหวัดชลบุรี , จังหวัดฉะเชิงเทรา , จังหวัดปราจีนบุรี
- พื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต , จังหวัดนครศรีธรรมราช , จังหวัดสงขลา , จังหวัดชุมพร

ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของผู้ใช้แรงงาน ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 พวกเราขอย้ำจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยมีการประกาศต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ทราบโดยทั่วกัน ในวันกรรมกรสากลปี 2553 นี้

แถลงโดยคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2553 ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ มักกะสัน กรุงเทพฯ

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

เชิญร่วมสัมมนา “ความจริงใจของรัฐบาลในการให้สัตยาบัน – ก้าวต่อไปของรัฐบาลต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO”


คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขอเชิญพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และสื่อมวลชน ร่วมการสัมมนา “ความจริงใจของรัฐบาลในการให้สัตยาบัน – ก้าวต่อไปของรัฐบาลต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO” ในวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2553 ระหว่างเวลา 09.00 – 16.00 น. ณ บางกอกพาเลซ มักกะสัน กรุงเทพฯ
รายละเอียดตามกำหนดการด้านล่างนี้

09.00 น. ลงทะเบียน / รับเอกสาร
09.30 น. รายงานวัตถุประสงค์ในการจัดงานและรายงานความคืบหน้าของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
โดย คุณชาลี ลอยสูง
09.50 น. ชมวิดิทัศน์ “สิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง คือ สิทธิมนุษยชน” “หลักการ กลไก และกระบวนการทำงานของอนุสัญญาฯ”
10.15 น. เบรคอาหารว่าง ชา กาแฟ
10.30 น. เสวนา “ก้าวต่อไปของรัฐบาลในการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98”
โดย ปลัดกระทรวงแรงงาน
คุณทวี เตชะทีราวัตน์ ประธานจัดงานวันแรงงานฯ
คุณชินโชติ แสงสังข์ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฯ
คุณสาวิทย์ แก้วหวาน คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฯ
คุณบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
ดำเนินรายการโดย คุณชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธาน UNI-TLC
12.00 น. แถลงข่าว “จุดยืนของขบวนการแรงงานต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ของรัฐบาล”
โดย คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
12.30 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.30 น. การบรรยายพิเศษ เรื่อง “กระทรวงแรงงานกับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98”
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ดำเนินรายการโดย คุณศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
14.00 น. เปิดเวทีซักถามแลกเปลี่ยน
14.30 น. เวทีเปิด “ทิศทางการเคลื่อนไหวที่เป็นเอกภาพของขบวนการแรงงานไทย เพื่อผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98”
ดำเนินรายการโดย คุณชาลี ลอยสูง
16.30 น. สรุปและปิดการสัมมนา

ช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98


เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คนทำงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรัฐ ลูกจ้างเอกชน แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ที่มีความห่วงใยต่อประเด็นสิทธิแรงงาน ควรศึกษาทำความเข้าใจกับอนุสัญญา 2 ฉบับนี้อย่างจริงจัง สนับสนุนและเข้าร่วมรณรงค์กับ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87และ98 ร่วมกันเรียกร้องเร่งรัดให้รัฐบาลตัดสินใจให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87และ 98 โดยเร็ว
สิ่งที่ท่านสามารถทำเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ครั้งนี้ ได้แก่
• ศึกษาทำความเข้าใจสาระสำคัญของอนุสัญญา 2 ฉบับนี้
• เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอนุสัญญาแก่เพื่อนๆ หรือคนรู้จัก เพื่อให้เข้าสนับสนุนการรณรงค์
• ติดตามความเคลื่อนไหวและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของคณะทำงานผลักดันฯ

นอกจากนี้ ท่านที่เห็นด้วยกับการให้สัตยาบัน อาจจัดทำไปรษณียบัตรแสดงความเห็นด้วยส่งตรงไปยังนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อทำให้รัฐบาลได้รับรู้ความคิดเห็นของท่านโดยตรงก็จะเป็นประโยชน์ยิ่ง

ติดต่อเพื่อเข้าร่วมสนับสนุน
หากท่านประสงค์ที่จะได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรณรงค์อนุสัญญาหรือต้องการสนับสนุนและเข้าร่วมรณรงค์เรียกร้องในครั้งนี้สามารถติดต่อที่ สำนักงานประสานงาน คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87และ 98 เลขที่ 503/20 ถนนนิคมรถไฟ มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 โทรศัพท์/โทรสาร 0-2654-7688
อีเมล vrlabour@gmail.com
หรือติดต่อที่ คุณชาลี ลอยสูง ผู้ประสานงานคณะทำงานฯ โทรมือถือ 08-9030-9178

ทำไมประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับ


1. อนุสัญญา 2 ฉบับนี้เป็น 2 ใน 8 ของอนุสัญญาหลักที่ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน การให้สัตยาบันจะทำให้คนทำงานและนายจ้างได้รับหลักประกันและเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองได้จริง

2. การให้สัตยาบันเป็นการประกาศให้โลกได้รู้ว่าประเทศเราเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ทำให้เราได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ สามารถหลุดพ้นจากการเอาไปเป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันทางการค้าได้ และถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบการค้าเสรีของโลก

3. การให้สัตยาบันถือเป็นการกระทำที่เหมาะสมกับการที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ก่อตั้งองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการ หรือเป็นประเทศที่เกิดใหม่มีพัฒนาการที่ล้าหลัง ไม่มีความพร้อม หรือไม่ก็เป็นประเทศที่ประกอบขึ้นด้วยหลายๆ รัฐที่แต่ละรัฐมีการปกครอง มีกฎหมายของตนเองอย่างสหรัฐอเมริกา เป็นต้น สำหรับประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว เป็นประเทศประชาธิปไตย มีพัฒนาการยาวนาน มีแรงงานและนายจ้างที่มีความเข้าใจและผ่านกระบวนการแรงงานสัมพันธ์มายาวนานพอสมควร เรามีระบบกฎหมายที่ดีกว่าในหลายๆ ประเทศ เรามีกระทรวงแรงงานซึ่งบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์มากมาย ปัจจัยเหล่านี้ต้องบอกว่าเรามีความพร้อมที่จะนำประเทศสู่การปฏิบัติตามหลักการได้ไม่ยากเย็นนัก

4. การให้สัตยาบันในระยะยาวจะส่งผลดีต่อประเทศในเรื่องการสร้างสังคมที่เสมอภาคเป็นธรรม ช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เพราะการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมจะช่วยทำให้เกิดการแบ่งบันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมระหว่างคนทำงานกับผู้ประกอบการ

5. เรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานไทยในวันแรงงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

6. การให้สัตยาบันจะทำให้กลไกติดตามตรวจสอบของILO สามารถทำงานได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใส ได้มาตรฐาน และทำให้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังในประเทศไทย ย่อมเกิดผลดีต่อทั้งคนทำงานและนายจ้าง ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนกระตุ้นให้ผลิตภาพขยายตัวในที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98


อนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม เป็น 2 ใน 8 ของอนุสัญญาหลักของ ILO ที่ถือกันว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศจะต้องเคารพและดูแลให้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นประตูด่านแรกของการที่จะทำให้คนทำงานทั้งหลายสามารถเข้าถึงสิทธิอื่น ๆ ได้จริง และจะสามารถทำให้สิ่งที่เรียกว่า งานที่มีคุณค่า และเป็นธรรมเกิดขึ้นจริง และดังเป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้

สาระสำคัญอนุสัญญาฉบับที่ 87
ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว
1. นายจ้างและคนทำงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนทำงานในภาครัฐ หรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือแรงงานนอกระบบ พวกเขามีสิทธิที่จะรวมตัวจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์กรของตน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนได้อย่างอิสระโดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตล่วงหน้าจากหน่วยงานใด ๆ
2. การรวมตัวนั้นเป็นไปได้อย่างเสรีปราศจากการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ อาชีพ ศาสนา เพศ อายุ ความคิดเห็นทางการเมือง สีผิว ของเขาเหล่านั้น
3. มีเสรีภาพในการที่จะยกร่างธรรมนูญข้อบังคับองค์กรของตนเอง และคัดเลือกผู้แทนของตน และการจัดการบริหารองค์กรของตนโดยที่รัฐจะต้องหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือจำกัดสิทธิดังกล่าว
4. องค์กรนายจ้างและองค์กรแรงงานมีสิทธิและเสรีภาพที่จะจัดตั้งหรือเข้าร่วมกิจกรรมและเป็นสมาชิกขององค์กรระดับสหพันธ์ หรือสภา รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศได้

สาระสำคัญอนุสัญญาฉบับที่ 98
ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม
1. รัฐต้องคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวจากการกระทำใด ๆ อันเป็นการเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำที่ทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพได้ หรือต้องออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพหรือการเลิกจ้าง เพราะการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสหภาพแรงงาน
2. รัฐมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองแก่องค์กรของนายจ้างและองค์กรแรงงานให้ปลอดจากการแทรกแซงกันและกัน
3. รัฐต้องดำเนินการพัฒนากระบวนการต่าง ๆ ให้กฎหมายคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมสามารถบังคับใช้ได้จริง

สิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองในไทย


ทั้งๆที่ประเทศไทยมีการจ้างงานแบบทุนนิยมมานานมากกว่า 2 ศตวรรษ แต่กรอบคิดที่มีอิทธิพลต่อระบบแรงงานสัมพันธ์ของเรายังคงเป็น “แบบนายกับบ่าว” นั่นคือ อำนาจในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต สภาพการจ้างและสวัสดิการของคนทำงาน ยังคงอยู่ในกำมือของฝ่ายนายจ้าง คนทำงานทั้งหลายยังไม่ได้รับการยอมรับให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าว แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์จะให้การรับรองสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งรัฐและนายจ้างยังคงปฏิเสธและต่อต้านที่จะให้คนงานได้ใช้สิทธินี้อย่างเต็มที่ รัฐไม่ยอมออกมาตรการคุ้มครองและส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน ตรงกันข้าม กลับมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์มากมายที่กีดกันคนงานไม่ให้เข้าถึงและใช้สิทธิดังกล่าว นายจ้างจำนวนมากยังคงปฏิเสธที่จะเจรจากับสหภาพแรงงาน มีการกลั่นแกล้งและเลิกจ้างผู้นำแรงงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงานอยู่เสมอๆ มีการดำเนินการสารพัดอย่างเพื่อที่จะทำลายและล้มสหภาพแรงงาน ทำให้คนทำงานราว 37 ล้านคนในประเทศไทยสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวกันได้จริงเพียงห้าแสนคนหรือ 1.3 % เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมาก จัดเป็นอันดับท้ายๆของโลก การที่คนงานส่วนใหญ่ไม่สามารถรวมตัวและทำการเจรจาต่อรองร่วมได้ ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ค่าจ้างต่ำ สภาพการจ้างและสวัสดิการเลวร้าย ต้องทำงานหนักและยาวนานในแต่ละวัน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

วันนี้ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม มีหลายกรณีที่น่าสงสัยว่านายจ้างได้ใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการเลิกจ้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายสหภาพแรงงาน ขณะที่รัฐไม่ถือเป็นปัญหาสำคัญ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองคนงานเหล่านั้นได้

วันนี้เราอยู่ในโลกสมัยใหม่ ที่ทั่วโลกต่างยอมรับในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค การที่ประเทศไทยยังมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แบบอำนาจนิยมและใช้จารีตปฏิบัติของแรงงานสัมพันธ์แบบนายกับบ่าว จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ประเทศไทยได้พัฒนามาไกลเกินกว่าที่จะยอมปล่อยให้กรอบความคิดดังกล่าวข้างต้นมาพันธนาการเหนี่ยวรั้งความเจริญก้าวหน้า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพื่อความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย และเพื่อยุติธรรมและสันติสุขของสังคมไทย

ทางออกหนึ่งที่ถูกเสนอ คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด

สถานการณ์ทั่วโลกต่ออนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ


เสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมนั้น ทั่วโลกถือกันว่าเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน สิทธิดังกล่าวจึงได้รับการรับรองทั้งในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ และในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ที่ถือเป็น 2 ใน 8 ฉบับของอนุสัญญาหลักของ ILO ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศจะต้องให้การยอมรับและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นต้นที่จะทำให้ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายสามารถเข้าถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้อื่น ๆ ของเขา หากคนทำงานไม่อาจเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมได้ พวกเขาก็จะถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยฝ่ายทุนและรัฐ
จากจำนวนสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้งหมด 183 ประเทศ จำนวน 150 ประเทศให้สัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 87 แล้ว และจำนวน 160 ประเทศให้สัตยาบันฉบับที่ 98 แล้ว

จำนวนประเทศสมาชิก ILO ในภูมิภาคต่างๆ กับการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ
สมาชิกทั้งหมด 183 ประเทศ ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 87 แล้ว 150 ประเทศ (81.97 %) ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 98 แล้ว 160 ประเทศ (87.43 %)
อาฟริกา 53 ประเทศ ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 87 แล้ว 48 ประเทศ (90.57 %) ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 98 แล้ว 52 ประเทศ (98.11 %)
อเมริกา 35 ประเทศ ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 87 แล้ว 33 ประเทศ (94.29 %) ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 98 แล้ว 32 ประเทศ (91.43 %)
เอเชีย 44 ประเทศ ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 87 แล้ว 19 ประเทศ (43.18 %) ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 98 แล้ว 25 ประเทศ (56.82 %)
ยุโรป 51 ประเทศ ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 87 แล้ว 50 ประเทศ (98.04 %) ให้สัตยาบัน ฉบับที่ 98 แล้ว 51 ประเทศ (100 %)
ที่มา: www.ilo.org

จะเห็นได้ว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ให้สัตยาบันน้อยที่สุด โดยประเทศที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันเลยแม้แต่ฉบับเดียว ได้แก่
- ประเทศในตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย บาห์เรน ฯลฯ
- ประเทศสังคมนิยม เช่น จีน เวียดนาม ลาว
- ประเทศในเอเชียใต้ มีประเทศเดียว ได้แก่ อินเดีย
- ประเทศในอาเซียน นอกจากเวียดนามและลาว ซึ่งเป็นประเทศสังคมนิยมแล้ว ยังมี บรูไน ซึ่งเป็นสมาชิกใหม่ของ ILO และประเทศไทย ที่เป็นประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง ILO

เฉพาะในอาเซียน ประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วทั้งสองฉบับ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ส่วนประเทศที่ให้สัตยาบันแล้วฉบับเดียว ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า

วันศุกร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

ข้อดีในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98


อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมนั้นถือเป็นอนุสัญญาที่เป็นหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญที่สุดหลักการหนึ่งของ ILO ที่เชื่อกันว่าจะเป็นการสร้างหลักประกันสำคัญให้กับคนทำงานและจะนำมาซึ่งสังคมที่เป็นธรรมและสันติสุข ด้วยเหตุนี้ประเทศสมาชิกILO ส่วนใหญ่จึงให้การสนับสนุนโดยการให้สัตยาบัน เคารพและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศก่อตั้ง ILO ยังไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาทั้งสองฉบับนี้ ทั้งๆที่มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตัดสินใจลงนามให้สัตยาบันจากองค์กรแรงงานต่างๆในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ล่าสุดรัฐบาลได้เริ่มตอบรับข้อเรียกร้องนี้โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเประสานการดำเนินงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ประกอบผู้แทนจากองค์กรนายจ้าง องค์กรแรงงาน หน่วยงานราชการและนักวิชาการ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ได้เสร็จสิ้นภารกิจแล้วและมีความเห็นว่ารัฐบาลไทยควรจะดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันสองฉบั[นี้ ขณะนี้จึงอยู่ที่ดุลยพินิจของรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร

ข้อดีของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
1. การให้สัตยาบัน จะช่วยลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ปัจจุบันและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีรากฐานมาจากการที่สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้ช่องทางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียมโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมีไม่เพียงพอ เมื่อลูกจ้างและนายจ้างเกิดความขัดแย้งจึงมีแนวโน้มจะขยายเป็นความรุนแรงได้ง่าย การให้สัตยาบัน จะทำให้ประเทศมีภาระผูกพันในการดำเนินการตามอนุสัญญา จึงต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถเจรจาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่แท้จริง
2. การให้สัตยาบัน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ
2.1. ปรับสถานะประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากและถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างไปทั่วโลก
2.2. เป็นการแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า
3. การให้สัตยาบัน จะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม และแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่
3.1. การส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เช่น ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานภาคเอกชนกับสหภาพแรงงานภาครัฐวิสาหกิจสามารถเข้าร่วมเป็นองค์กรเดียวกันได้
3.2. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากนายจ้าง เช่น คนงานที่ริเริ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานและรวมตัวเจรจาต่อรองต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลิกจ้างและการปิดงานเฉพาะกลุ่ม
3.3. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การสั่งให้กรรมการสหภาพออกจากตำแหน่ง การบังคับให้ลูกจ้างและนายจ้างที่จัดตั้งองค์กรต้องจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับให้ที่ปรึกษาของนายจ้างและลูกจ้างต้องจดทะเบียนกับทางการ
4. การให้สัตยาบัน ในระยะยาว จะช่วยสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน