วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

สิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองในไทย


ทั้งๆที่ประเทศไทยมีการจ้างงานแบบทุนนิยมมานานมากกว่า 2 ศตวรรษ แต่กรอบคิดที่มีอิทธิพลต่อระบบแรงงานสัมพันธ์ของเรายังคงเป็น “แบบนายกับบ่าว” นั่นคือ อำนาจในการตัดสินใจที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต สภาพการจ้างและสวัสดิการของคนทำงาน ยังคงอยู่ในกำมือของฝ่ายนายจ้าง คนทำงานทั้งหลายยังไม่ได้รับการยอมรับให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจดังกล่าว แม้กฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์จะให้การรับรองสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งรัฐและนายจ้างยังคงปฏิเสธและต่อต้านที่จะให้คนงานได้ใช้สิทธินี้อย่างเต็มที่ รัฐไม่ยอมออกมาตรการคุ้มครองและส่งเสริมการรวมตัวของคนงาน ตรงกันข้าม กลับมีการออกระเบียบกฎเกณฑ์มากมายที่กีดกันคนงานไม่ให้เข้าถึงและใช้สิทธิดังกล่าว นายจ้างจำนวนมากยังคงปฏิเสธที่จะเจรจากับสหภาพแรงงาน มีการกลั่นแกล้งและเลิกจ้างผู้นำแรงงานและผู้เข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงานอยู่เสมอๆ มีการดำเนินการสารพัดอย่างเพื่อที่จะทำลายและล้มสหภาพแรงงาน ทำให้คนทำงานราว 37 ล้านคนในประเทศไทยสามารถใช้สิทธิในการรวมตัวกันได้จริงเพียงห้าแสนคนหรือ 1.3 % เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ต่ำมาก จัดเป็นอันดับท้ายๆของโลก การที่คนงานส่วนใหญ่ไม่สามารถรวมตัวและทำการเจรจาต่อรองร่วมได้ ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ค่าจ้างต่ำ สภาพการจ้างและสวัสดิการเลวร้าย ต้องทำงานหนักและยาวนานในแต่ละวัน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

วันนี้ประเทศไทยอยู่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ แรงงานจำนวนมากถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม มีหลายกรณีที่น่าสงสัยว่านายจ้างได้ใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการเลิกจ้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายสหภาพแรงงาน ขณะที่รัฐไม่ถือเป็นปัญหาสำคัญ ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองคนงานเหล่านั้นได้

วันนี้เราอยู่ในโลกสมัยใหม่ ที่ทั่วโลกต่างยอมรับในเรื่องสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค การที่ประเทศไทยยังมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์แบบอำนาจนิยมและใช้จารีตปฏิบัติของแรงงานสัมพันธ์แบบนายกับบ่าว จึงไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ประเทศไทยได้พัฒนามาไกลเกินกว่าที่จะยอมปล่อยให้กรอบความคิดดังกล่าวข้างต้นมาพันธนาการเหนี่ยวรั้งความเจริญก้าวหน้า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพื่อความก้าวหน้าของเศรษฐกิจไทย และเพื่อยุติธรรมและสันติสุขของสังคมไทย

ทางออกหนึ่งที่ถูกเสนอ คือ การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น