วันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2553

แถลงการณ์ เรื่อง “จุดยืนของขบวนการแรงงานต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ของรัฐบาล”


แถลงการณ์คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
เรื่อง “จุดยืนของขบวนการแรงงานต่อการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ของรัฐบาล”

ตามที่คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สหภาพแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานต่างๆ ได้ร่วมกันผลักดันกับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ไม่ว่าจะเป็น
 การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2552 เพื่อนำเสนอผลักดันและติดตาม ในเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2552 และ 31 สิงหาคม 2552
 การยื่นข้อเรียกร้องต่อองค์การแรงงานระหว่างประเทศ และนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2552 เพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ
 การรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2552 และผู้แทนรัฐบาล พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ มารับข้อเรียกร้องและรับปากว่ารัฐบาลจะให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวภายใน 3 เดือน
 และในที่สุดรัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมหารือกับคณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งได้มีการประชุมกัน 4 ครั้ง โดยในการประชุมล่าสุดคณะประสานงานฯ ดังกล่าว รับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

จากคำแถลงดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้รณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง จนถึงขณะนี้ คณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงแรงงาน ได้รับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87

และ 98 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง ได้ประกาศรับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ต่อสาธารณะ ในการสัมมนาของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค

ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานพวกเราขอเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานให้นำมติที่ประชุมของคณะประสานงานเพื่อให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้คณะรัฐมนตรีรับหลักการในการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ อย่างเร่งด่วน พร้อมกันนี้ขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แสดงความจริงใจต่อผู้ใช้แรงงาน ในการประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันกรรมกรสากลปี 2553 (1 พฤษภาคม 2553) โดยไม่ต้องมีความกังกวลต่อความเห็นของหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากกระทรวงแรงงานได้มีการออกแบบสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆอย่างครอบคลุมแล้ว และหน่วยงานส่วนใหญ่มีความเห็นในการสนับสนุนการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ รวมไปถึงความกังวลในเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถปรับแก้ไขให้สอดคล้องได้หลังจากการหลังจากการให้สัตยาบันไปแล้ว

เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่ง ที่คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 รณรงค์ผลักดันอย่างเข้มข้นให้รัฐบาลให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เนื่องจากว่าสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบัน มีการละเมิดสิทธิแรงงาน และสิทธิสหภาพแรงงานอย่างรุนแรง ติดอันดับต้นๆของโลก ซึ่งส่งผลต่อภาพพจน์อันดีของประเทศ และอาจส่งผลให้เกิดการกีดกันทางการค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้เพื่อเร่งขั้นตอนในการดำเนินการของรัฐบาลในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ประกาศให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ ในวันกรรมกรสากลปี 2553 คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จึงได้มีการหารือกันและกำหนดให้มีการรณงค์และเคลื่อนไหวร่วมกันของพี่น้องแรงงาน ต่างๆ ดังนี้
1. คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 จะเข้าพบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เพื่อติดตามให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในวันจันทร์ที่ 5 เมษายน 2553
2. ผู้ใช้แรงงานและองค์กรแรงงานในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้มีการหารือกันแล้วบางส่วน จะเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมกัน ในวันที่ 20 เมษายน 2553 โดยพื้นที่ที่ตอบรับในการร่วมรณรงค์แล้ว 5 พื้นที่ 26 จังหวัด ได้แก่
- พื้นที่ภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุตรดิตถ์ , จังหวัดนครสวรรค์ , จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดลำปาง , จังหวัดลำพูน
- พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา , จังหวัดอุบลราชธานี , จังหวัดขอนแก่น , จังหวัดหนองคาย
- พื้นที่ภาคกลาง 9 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร , จังหวัดสระบุรี , จังหวัดอ่างทอง , จังหวัดอยุธยา , จังหวัดสมุทรสาคร , จังหวัดนครปฐม , จังหวัดสมุทรปราการ , จังหวัดนนทบุรี และ จังหวัดปทุมธานี
- พื้นที่ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระยอง , จังหวัดชลบุรี , จังหวัดฉะเชิงเทรา , จังหวัดปราจีนบุรี
- พื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต , จังหวัดนครศรีธรรมราช , จังหวัดสงขลา , จังหวัดชุมพร

ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของผู้ใช้แรงงาน ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 พวกเราขอย้ำจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้มีการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยมีการประกาศต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ทราบโดยทั่วกัน ในวันกรรมกรสากลปี 2553 นี้

แถลงโดยคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98
เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2553 ณ โรงแรมบางกอกพาเลซ มักกะสัน กรุงเทพฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น